ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้ชีวิต สังคม หรือ เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าทักษะเดิม ๆ ที่เราเคยได้รับมาจากโรงเรียนอาจไม่เพียงพอให้เด็กยุคใหม่ที่ต้องเผชิญความท้าทายที่มากยิ่งขึ้น ดังนั้นโรงเรียนซึ่งเป็นรากฐานของการศึกษาต้องมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งการออกแบบการเรียนการสอน และการจัดการเรียนการสอนที่ไม่ควรยึดติดอยู่กับกรอบแบบเดิม ๆ ทั้งนี้ Digital Media เป็นช่องทางใหม่ที่สามารถเข้าถึงเด็กในยุคปัจจุบันได้มากที่สุด ทำให้การสอน การปลูกฝังเนื้อหาความรู้ตลอดจนทักษะต่าง ๆ อาจสามารถทำโดยวิธีการที่แนบเนียนได้มากยิ่งขึ้น
วันนี้เราได้หยิบงานวิจัยโครงการ “พัฒนาตัวแบบการเรียนรู้นอกรูปแบบโรงเรียนผ่านกระบวนการผลิตสื่อของเยาวชน” ที่นอกจากจะมุ่งพัฒนาชุดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการผลิตสื่อ ยังได้มีการนำไปทดลองจริงแล้วใน 5 จังหวัด คือ ลำปาง, สกลนคร, ราชบุรี, ตรัง และ ปัตตานี
การเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ นอกโรงเรียน
ปัจจุบัน นักเรียนไทยยังขาดความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบและทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตรการศึกษา รวมถึงขาดทักษะในการทำงานและเจตคติที่ดีต่ออาชีพที่สุจริต และยิ่งไปกว่านั้นเด็กและเยาวชนไทยยังต้องพัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อการเตรียมตัวสำหรับโลกที่กำลังจะมาถึง (21st Century Skills) ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการคิดวิเคราะห์, การเแก้ปัญหา, ทักษะการสื่อสาร, การทำงานแบบร่วมมือ และ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่ง ‘ครู’ ผู้มีหน้าที่ในการออกแบบการเรียนรู้และอำนวยความสะดวกการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน จึงต้องมีการพัฒนาความสามารถในการออกแบบเนื้อหาการเรียนรู้ให้สามารถเชื่อมต่อการเรียนรู้นอกโรงเรียนให้กลับมายังเนื้อหาสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรปกติได้
ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้พัฒนาตัวแบบการเรียนรู้นอกรูปแบบโรงเรียน (Non- traditional Learning Model) ที่หมายถึงตัวแบบการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมที่โรงเรียนเป็นอยู่อันหมายถึง กระบวนการสอน เนื้อหา คาบเรียน และ กิจกรรมการเรียน แต่สามารถยึดตามมาตรฐานการเรียนรู้ของเด็กแต่ละช่วงวัย
โดยในการวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการผลิตหนังสารคดีสั้น เป็นตัวแบบการเรียนรู้นอกรูปแบบโรงเรียน ซึ่งพบตัวอย่างที่ดีในนานาประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนผ่านสื่อสมัยใหม่ โดยไม่ยึดติดกับการเรียนรู้แบบเดิม ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง เพราะนอกจากวิดีโอจะเป็นเรื่องแปลกใหม่และจูงใจเด็ก ๆ ในการเรียนแล้ว การเรียนการสอนด้วยการใช้วิดีโอยังสามารถเป็นตัวกระตุ้นการคิดขั้นสูงให้เกิดขึ้นในตัวเด็กอีกด้วย โดยเห็นได้ชัดจากกระแสการศึกษาในโรงเรียนที่ฟลอริด้ากับการใช้งานในปีที่สองพบว่า มีการใช้วิดีโอในห้องเรียนเพิ่มขึ้น 15 เท่า การเพิ่มขึ้นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาทั้งเนื้อหาและการเข้าถึงวิดีโอเพื่อตอบสนองจุดประสงค์ของการเรียนรู้
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนและเปิดพื้นที่ผลงานวิดีโอของเด็ก ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ก้าวใหม่ เพื่อการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กในศตวรรษที่ 21 ที่จะเสริมพลังการเรียนรู้ของเด็กที่อยู่ในระบบโรงเรียนให้มีพื้นที่การเรียนรู้ที่กว้างขึ้น อีกทั้งเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ที่ครูแต่ละคนมีจากการทำงานที่ผ่านมาโดยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ผ่านกระบวนการผลิตสารคดี ไม่ใช่เพียงเพื่อการใช้วิดีโอสอนนักเรียนให้รู้ในบทเรียนและเนื้อหาโดยเฉพาะเท่านั้น แต่เป็นการทำให้เห็นตัวอย่างที่จะช่วยพัฒนาความเข้าใจในแง่มุมที่หลากหลายเกี่ยวกับเรื่องราวนั้น ๆ ให้มีมากขึ้นไปด้วย ซึ่งมีขั้นตอนการออกแบบการเรียนรู้ด้วยกระบวนการผลิตสารคดีที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ 6 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 “คิดหัวข้อ”
-
- เป็นขั้นตอนที่เด็กจะหาแรงบันดาลใจ และฝึกการตั้งคำถาม
ขั้นตอนที่ 2 “การเก็บข้อมูล”
-
- ทำให้เด็กได้ฝึกฝนการหาข้อมูลเบื้องต้น การลงพื้นที่ และการวางแผนการทำงาน
ขั้นตอนที่ 3 “คิดเป็นภาพ ลำดับเรื่องเล่า”
-
- เป็นการฝึกให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ ลำเรื่องราว รวมถึงการแปลงข้อมูลต่าง ๆ เป็นภาพ
ขั้นตอนที่ 4 “คิดก่อนถ่าย”
-
- เด็กจะได้ลงมือทำตามแผนงานที่ได้วางโครงเรื่องไว้โดยการลงพื้นที่ถ่ายทำ และเก็บข้อมูลในพื้นที่
ขั้นตอนที่ 5 “การตัดต่อ”
-
- เป็นการฝึกการสังเคราะห์และเรียบเรียงเรื่องราวเพื่อที่จะนำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
ขั้นตอนที่ 6 “เวทีนำเสนอ”
-
- ทำให้เด็กได้เห็นข้อบกพร่องและช่วยให้เห็นแนวทางการพัฒนาและเพิ่มเติมข้อมูลให้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
การนำไปปรับใช้จริงกับการเรียนการสอนใน 5 จังหวัด
ในการปรับใช้ตัวแบบการเรียนรู้ผ่านการผลิตสื่อนี้ พบความท้าทายในเรื่องของการปรับใช้กับการเรียนรู้ในสาระวิชาที่มีเนื้อหาตายตัว เช่น วิชาด้านทักษะภาษา วิชาวิทยาศาสตร์ และ ที่ท้าทายที่สุดคือวิชาคณิตศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าการเรียนรู้นอกรูปแบบโรงเรียนผ่านกระบวนการผลิตสื่อสารคดีของเยาวชน หลังจากที่ได้ทดลองในพื้นที่ตัวอย่างทั้ง 5 จังหวัด พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 ส่วน ประกอบด้วย
-
ตัวผู้เรียน
เกิดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (4c) ประกอบด้วย กระบวนการคิดวิเคราะห์และทักษะการเแก้ปัญหา (Critical thinking and Problem solving), ทักษะการสื่อสาร (Communication) และ ทักษะการทำงานแบบร่วมมือ (Collaboration) รวมถึงเกิดการเรียนรู้จากแรงบันดาลใจภายใน ทำให้มีความกระหายในการเรียนรู้มากขึ้น ค้นพบตัวเอง และ รู้เป้าหมายในสิ่งที่สนใจ มีความสุขในการเรียนรู้ จากบรรยากาศการเรียนที่สนุกสนาน มีศักดิ์ศรี และมีที่ยืนในสังคม
-
ครู
รู้จักเด็กเป็นรายบุคคลทำให้สามารถเข้าใจตัวตนของเด็กได้มากยิ่งขึ้น สามารถตั้งโจทย์การเรียนรู้ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียนได้ เกิดพื้นที่พูดคุย มีชุมชนการเรียนรู้ของครูและเด็ก ครูมีความสุข สนุก และมีความท้าทายในการจัดการเรียนการสอน
-
โรงเรียนและชุมชน
ตอบโจทย์การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทั้งเนื้อหา กิจกรรม คาบเรียน มีความยืดหยุ่น ปรับเข้ากับเป้าหมายการเรียนรู้ได้ เกิดการบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบ ผู้เรียน ครู ชุมชน สามารถออกแบบและสร้างองค์ความรู้ได้เอง ขยายผลได้ง่ายด้วยเครือข่ายครู ด้วยสื่อที่โรงเรียนผลิตได้เอง พัฒนาผู้เรียนได้เพิ่มศักยภาพและความสนใจ รวมถึงเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กว้างยิ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจากโครงการวิจัย “การพัฒนาตัวแบบการเรียนรู้นอกรูปแบบโรงเรียนผ่านกระบวนการผลิตสื่อของเยาวชน” หัวหน้าโครงการ : สรรชัย หนองตรุด |